ศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักพระราชวัง โดยสำนักงานโครงการ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีชื่อเรียกย่อว่า “ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ” อักษรย่อ “ศนส.” ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 5 / 2545 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2545 โดยได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามาภิไธยในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี “สิรินธร” มาเป็นชื่อของศูนย์ฯ เพื่อให้เป็นศูนย์นานาชาติที่ส่งเสริมด้านการสอน การวิจัย การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งแรกของโครงการส่วนพระองค์ และเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2546 นอกจากนี้ ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์นานาชาติสิรินธรเพื่อการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2545 ณ อาคารปฏิบัติการวิจัยกลาง ชั้น 7 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

     ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ เป็นหน่วยงานในระดับคณะ อยู่ภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัย ขึ้นตรงต่อสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์และไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง มีบทบาทในด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีด้าน Remote Sensing Geographical Information System (GIS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความรู้และเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความต้องการที่จะพัฒนา และด้วยศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ เป็นหน่วยงานที่เน้นการศึกษา วิจัย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตามแนวโครงการพระราชดำริในพื้นที่ของโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นหลัก ดังนั้นผู้รับบริการจากศูนย์ฯ จึงเป็นผู้เข้าอบรมสัมมนา และได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงผู้ได้รับบริการวิชาการจากนักวิชาการที่ศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการหรือประสานงาน

     ด้านบทบาทความร่วมมือกับนานาชาติ ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ มีความร่วมมือกับต่างประเทศใน 2 รูปแบบ คือ โดยผ่านสำนักงานโครงการฯ และโดยการติดต่อประสานจากศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ เอง กล่าวคือ สำนักงานโครงการฯ มีความร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในมลรัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา และมหาวิทยาลัยวูฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะส่งผลให้คณาจารย์และข้าราชการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และในระดับประเทศ ได้รับรู้เทคโนโลยีใหม่ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้อีกด้วย นอกจากนี้ ศูนย์นานาชาติสิรินธรฯ ได้ติดต่อประสานงานขอความร่วมมือในด้านงานวิจัย และงานพัฒนาไปยังประเทศ ต่างๆ เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิตของประชากรของประเทศไทยในพื้นที่ทุรกันดาร การศึกษาวิจัยด้านเศรษฐสังคมและทรัพยากร การพัฒนาความร่วมมือเพื่อพัฒนาทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว